ทัวร์อิ่มบุญ
  • หน้าหลัก
  • ข่าวประชาสัมพันธ์
  • วัดที่น่าสนใจ
  • ไหว้พระ 9 วัด
  • เกร็ดความรู้
  • ติดต่อเรา
  • Blog

ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดอ่างทอง

5/11/2014

0 Comments

 
พาเที่ยว ไหว้พระ 9 วัด ที่อ่างทอง อ่างทอง แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ เป็นเมืองผ่านในสายตาของใครและใครหลายคน แต่ที่นี่มีวัดงามๆที่น่าได้เยือนยลอยู่หลายวัดอีกทั้งยังมีพระองค์ใหญ่ให้กราบไหว้ไม่แพ้ที่ใด
Picture
ไหว้พระ 9 วัด ที่อ่างทอง
Picture
1.วัดป่าโมกวรวิหาร ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นยุคสมัยสุโขทัย วัดนี้เป็นที่เลื่องลือแพร่หลายเกี่ยวกับองค์พระพุทธไสยาสน์ ที่มีความสำคัญและเป็นที่เคารพของชาวอ่างทอง

พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีพระพักตร์รูปไข่ ความยาวจากพระเมาลีถึงพระบาท 22.58 เมตร มีประวัติการชะลอ ในปี พ.ศ.2268 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองงานจัดการชะลอพระพุทธไสยาสน์องค์นี้จากริมแม่น้ำน้อยไปไว้บริเวณวัดตลาด หลังจากนั้นทรงสร้างวิหารหลังใหม่ครอบไว้ ผนวกเอาวัดชีปะขาวเข้ากับวัดป่าโมกเป็นต้นมา ด้วยเพราะพื้นที่แห่งนี้ได้มีต้นโมกขึ้นอยู่จำนวนมาก

Picture
พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก
2.วัดท่าสุทธาวาส ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก เวลาศึกสงครามบริเวณนี้จะเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ จุดเด่นอันนอกเหนือจากการไหว้พระแล้ววัดนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยภายในพระอุโบสถ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรส่วนพระองค์และนักเรียนในโครงการศิลปาชีพเขียนขึ้น มีหลากหลายเรื่องราว เช่น เรื่องพระมหาชนก ประวัติเมืองอ่างทอง แม้แต่ชาวบ้านในตำบลบางเสด็จก็ถูกนำมาแต้มแต่งที่นี่ อีกทั้งมีภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาที่ทรงจรดปลายพู่กันวาดผลมะม่วงไว้ด้วย
Picture
ภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถวัดท่าสุทธาวาส
3.วัดสี่ร้อย ต.สี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อายุราว 150 – 200 ปี มีตำนานรักชาติอันตราตรึง มีพระใหญ่อย่าง “พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์” ขนาดใหญ่สูงขนาด 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ องค์พระทำด้วยปูนเรียกกันตาม ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโตวัดสี่ร้อย” หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อร้องไห้”เมื่อปี พ.ศ.2530 มีข่าวใหญ่ว่าหลวงพ่อวัดสี่ร้อยมีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากคน ทั่วไปทั้งชาวอ่างทอง และจังหวัดใกล้เคียงต่างหาโอกาสมานมัสการ นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถวัดนี้เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยา ที่มีความงดงามมาก ปัจจุบันภาพลบเลือนไปหมดแล้ว

Picture
หลวงพ่อร้องไห้แห่งวัดสี่ร้อย
4.วัดเขียน ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝาผนัง ที่งดงามแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญสมัยอยุธยาตอนปลาย ลายเส้นอ่อนช้อยหลากหลายเรื่องราว ผนังทิศใต้เป็นเรื่องมโนห์รา ตลอดจนเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ป่าหิมพานต์ ก็เล่าเรื่องไว้อย่างละเอียดปราณีต
Picture
ภายในพระอุโบสถวัดเขียน
5.วัดขุนอินทประมูล ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทองก็คงเหมือนมาไม่ถึงอ่างทอง ที่วัดนี้มีพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์องค์ขาวใหญ่ วัดจากยอดพระเกตุเมาลีจนถึงปลายพระบาทยาว 50 เมตร พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก 
Picture
พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล
พระนอน วัดขุนอินฯ มีพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยพระยาเลอไทสร้างขึ้นเป็นพระพุทธบูชา และได้ขนานพระนามว่าขณะนั้นว่า พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เหลือแต่องค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้งมานานนบร้อยปี องค์พระนอนมีพุทะลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก

6.วัดม่วง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ ต้องการนำเงินที่ได้จากแรงศรัทธาก่อให้เกิดเป็นรูปธรรม จึงจัดสร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยก่อนที่หลวงพ่อมรณภาพลง ได้ตั้งนามองค์พระว่า “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
Picture
พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญแห่งวัดม่วง
พระนามนี้หลวงพ่อเกษมตั้งใจสร้างองค์พระนี้ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 องค์พระ ได้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 มีขนาดหน้าตักองค์ 63.05 เมตร มีความสูงจากฐานองค์พระ ถึงยอดเกศา 95 เมตร

7.วัดต้นสน อ.เมือง จ.อ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร พระนามว่า สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง หรือเรียกชื่อย่อว่า “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” ที่หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ลงรักปิดทอง นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกและมีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง

Picture
สมเด็จพระศรีเมืองทอง พระพุทธรูปปางสะดุ้งมารแห่งวัดต้นสน
8.วัดราชปักษี หรือ วัดนก อ.เมือง จ.อ่างทอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา เป็นวัดอยู่ริมแม่น้ำน้อย วัดนี้ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สักการะบูชา และเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านในท้องถิ่นพระนอนองค์นี้มีขนาดเดียวกับพระนอนที่วัดป่าโมกฯ
Picture
พระนอนแห่งวัดราชปักษี
9.วัดไชโยวรวิหาร หรือ วัดเกษไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ได้ขึ้นมาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโตไว้กลางแจ้ง เป็นปูนขาวไม่ปิดทอง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นเมื่อ พ.ศ.2430 แต่แรงสั่นสะเทือนระหว่างการลงรากฐานพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์”

Picture
รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต
นอกจากนี้ในวิหารที่หันหน้าออกสู่แม่น้ำยังเป็นที่ประดิษฐาน “รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์” (โต พรหมรังสี) สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2437 องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่าวิหารแห่งอื่นๆ
0 Comments

ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดกรุงเทพ

5/11/2014

0 Comments

 
Picture
ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง (ททท.)
          "การเริ่มต้นที่ดี คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ" จากคติดังกล่าว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดทำกิจกรรม "ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง" ขึ้น เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจได้เดินทางท่องเที่ยวสักการะสถานที่อันเป็นมงคล เพื่อการเริ่มต้นอย่างมีความสุขสงบทางใจ ตามคติความเชื่อของไทย อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานที่สำคัญของเกาะ รัตนโกสินทร์และบริเวณโดยรอบอีกด้วย
Picture
1. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

          คติ : เดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรีที่ดี
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่ ดอกไม้พวงมาลัย

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศที่ดิน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเดิมเรียกว่า "หมู่บ้านกุฎีจีน" วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2368 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร" พร้อมกับทรงสร้างพระวิหารหลวงเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธไตรรัตนนายก" (หลวงพ่อโต) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 หรือเรียกตามแบบจีนว่า ชำปอฮุดกง หรือ ชำปอกง

          วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ โดยประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ นอกจากนี้ ยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2408

          การเดินทาง 
          
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี มีโดยรถประจำทาง สาย 40, 57, 149 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 177 หรือจะไปทางเรือก็ต้องข้ามเรือข้ามฟากที่ท่าเรือปากคลองตลาดมาท่าเรือวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
Picture
2. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

          คติ : มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
          เครื่องสักการะสำหรับพระประธานในโบสถ์ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก 
          เครื่องสักการะสำหรับรูปเคารพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท : ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างสมัยก่อนกรุงรัตรโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายราชสามัญ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุ รสิงหนาท ต่อมาเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้ง จึงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดชนะสงคราม"

          วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร มีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย เป็นพระประธาน มีพระนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ" ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ 

          การเดินทาง

          วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร สามารถเดินทางโดยรถประจำทาง สาย 33, 64, 65 หรือรถปรับอากาศ สาย ปอ. 3, 32, 33, 64, 65
Picture
3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

          คติ : ร่มเย็นเป็นสุข
          เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในนาม "วัดโพธิ์" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อ "วัดโพธาราม" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงบูรณะและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างประเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ. 2377 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระเจดีย์ แล้วพระราชทานนามว่า "พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ" และทรงสร้าง "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกนิธาน" เพื่ออุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 และทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น "มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน" จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาหาความรู้

          ที่วัดโพธิ์มี "พระพุทธเทวปฏิมากร" ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ใต้ฐานชุกชี บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 มีพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่สวยงามที่สุด และองค์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนพื้นพระบาทประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ นอกจากนั้น วัดโพธิ์ยังมีเจดีย์ทั้งสิ้น 99 องค์ ถือว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และมีพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 1- 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          ในปัจจุบันวัดโพธิ์เปิดอบรมเผยแพร่วิชาการแพทย์แผนโบราณ โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากกระทรวงสาธารณสุข

          การเดินทาง

          วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย 12, 44, 82, 91 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 12, 32, 44, 91, 51
Picture
4. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          คติ : เพื่อจิตใจสะอาด ดุจรัตนตรัย
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกไม้

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นพระอารามที่อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2326 เพื่อความสะดวกเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณี และเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิอายุของพระเจ้าแผ่นดินเจ้านายในราชสกุล ภายในวัดพระแก้วมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" (พระแก้วมรกต) ที่พระระเบียงมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วิจิตรสวยงามและยาวที่สุดในโลก มีปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งเป็นปราสาทยอดปรางค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1- 8 

          มีพระศรีรัตนเจดีย์ประดับกระเบื้องสีทองทั้งองค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุมีหอพระราชพงศานุสรณ์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลของ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหอระฆังที่มีระฆังซึ่งตีมีเสียงดังกังวานดี มีพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์และยัง มีรูปยักษ์ 6 คู่ เป็นรูปยักษ์ตัวสำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นปูนปั้นทาสี ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ สูงประมาณ 6 เมตร ตั้งประจำที่ช่องประตูพระระเบียง

          การเดินทาง

          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร สามารถโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 25, 32, 33, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 2, 3, 6, 25, 32, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203, 512
Picture
5. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
     
          คติ : ชื่อเสียงโด่งดัง คนนิยมชมชอบ
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม วัดระฆัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อว่า “วัดบางว้าใหญ่” เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 มีลายหน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถนี้ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" นอกจากนี้ ยังมีหอไตรเป็นรูปเรือนสามหลังแฝด ภายในมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญหลายแห่งทั้งบานประตู และฝาผนังรวมทั้งตู้พระไตรปิฏกสมัยกรุงศรีอยุธยา

          วัดระฆังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณ วิทยาคุณโด่งดังมากแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน การไปสักการะสมเด็จพุฒาจารย์ เพื่อขอพรโดยการสวดคาถาชินบัญชรเมื่อสวดจบแล้ว ปักธูปที่กระถางและปิดทองที่รูปปั้น แล้วอย่าลืมพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
 
          การเดินทาง

          วัดระฆังโฆสิตารามมรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย สามารถโดยรถประจำทาง สาย 19, 57 ส่วนทางเรือ โดยเรือด่วนเจ้าพระยาแล้วลงที่ท่ารถไฟ หรือท่าวังหลัง หรือข้ามฝากที่ท่าช้างแล้วขึ้นที่ท่าเรือวัดระฆัง 
Picture
 6. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

          คติ : วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่คนทั่วไป
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ "วัดมหาสุทธาวาส" วันนี้เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2350 เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2390 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศนเทพวราราม"

          ที่พระวิหารมี "พระศรีศากยมุนี" เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วย สำริดถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา บานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงามรอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์ มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระประธานปางมารวิชัย ใหญ่กว่าพระที่หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์อื่น ๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมาก พระอุโบสถนี้นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธเสรฏฐมุนี เป็นพระประธานที่หล่อด้วยกลักฝิ่นเมื่อ พ.ศ. 2382 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน

          การเดินทาง

          วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย 10, 12, 42 รถปรับอากาส สาย ปอ. 10, 12, 42
Picture
7. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

          คติ : ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียนคู่
 
          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก เมื่อ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) เสด็จทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยามารุ่งเช้าที่หน้าวัดมะกอก จึงโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดแจ้ง" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม"

          ในสมัยกรุงธนบุรีวัดอรุณราชวรารามเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ว นอกจากนั้นยังมียักษ์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 ตน ตั้งอยู่หน้าประตูซุ้มยอดพระมงกุฏ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "ยักษ์วัดแจ้ง"

          ภายในวัดอรุณราชวรารามนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ มีพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสูง 33 วาเศษ ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีปรางค์ทิศทั้ง 4 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ เทศน์พระธัมมจักร ตรัสรู้ นิพพาน การเดินเวียนทักษิณาวัดรอบพระปรางค์ 3 รอบ โดยเดินเวียนขวา (ตามเข็มนาฬิกา) เพื่อความเป็นสิริมงคล มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และยังมีพระวิหารที่มีพระบรมสารีริกธาติที่เกศพระพุทธชมภูนุชฯ มีพระอรุณหรือพระแจ้ง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์

          การเดินทาง

          วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ สามารถโดยรถประจำทาง สาย 19, 57 หรือนั่งเรือโดยสารข้ามฟากจากท่าเตียน มาขึ้นที่วัดอรุณ 
Picture
 8. วัดบวรนิเวศวิหาร
          
          คติ : พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต
            เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 3 ดอก


          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชชวรวิหาร สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2367 - 2375 เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดใหม่ ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาประทับเมื่อปี พ .ศ. 2375 นอกจากนี้ ยังเป็นวัดที่รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลปัจจุบันทรงผนวช เป็นวัดของคณะ สงฆ์ฝ่ายคามวาสีของธรรมยุติกนิกาย

          สิ่งสำคัญภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางมีตรามหามงกุฎ พระประธานในพระอุโบสถและพระพุทธชินสีห์ วิหารพระศาสดา พระเจดีย์ใหญ่ และพระตำหนักปั้นหยา สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวช


          การเดินทาง

          วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงนิเวศ เขตพระนคร สามารถโดยรถประจำทาง สาย 10, 12, 56, 68 
Picture
9. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

          คติ : เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล
          เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 3 ดอก

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดสำคัญคู่มากับการสร้างกรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก รัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โปรดให้ขุดคลองรอบพระอารามและพระราชทานนามว่า วัดสระเกศ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารามและสร้างสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง

          สิ่งสำคัญภายในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้แก่ พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ซึ่งสร้างเป็นพระปรางค์ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เกิดทรุดพังลง รัชกาลที่ 4 โปรดให้ซ่อมแซม โดยแปลงเป็นภูเขาและก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถที่ภายในมีภาพเขียนจิตรกรรมฝีมือช่าง สมัยรัชกาลที่ 3 และหอไตร ศิลปะสมัยอยุธยา บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ

          การเดินทาง

          วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมหานาค แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
Picture
0 Comments

    Archives

    June 2014
    May 2014

    Categories

    All
    วัดที่น่าสนใจ
    ข่าวประชาสัมพันธ์
    ไหว้พระ9วัด


Powered by Create your own unique website with customizable templates.