ทัวร์อิ่มบุญ
  • หน้าหลัก
  • ข่าวประชาสัมพันธ์
  • วัดที่น่าสนใจ
  • ไหว้พระ 9 วัด
  • เกร็ดความรู้
  • ติดต่อเรา
  • Blog

ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด จังหวัดนครพนม

5/15/2014

0 Comments

 
เสริมสิริมงคล อิ่มบุญอิ่มใจ ไหว้ 7 พระธาตุวันเกิดนครพนม
Picture
ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด จังหวัดนครพนม (ททท.)

          การไหว้พระธาตุ ถือเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพราะการบูชาพระธาตุ อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญมาสู่ผู้ที่บูชา รวมทั้งอานิสงส์ผลบุญที่ได้จากการกราบไหว้บูชา ยิ่งหากใครบูชาด้วยจิตใจศรัทธาอันบริสุทธิ์ และหมั่นกราบไหว้เมื่อมีโอกาส อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุ จะดลบันดาลให้เกิดสิริมงคลในชีวิตแก่ตัวผู้บูชา 

          โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนม จัดเป็นเมืองแห่งพระธาตุ เพราะแทบทุกอำเภอจะมีวัดที่ประดิษฐานพระธาตุอยู่มากมาย อีกทั้งแต่ละพระธาตุ ยังมีความเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุประจำวันเกิด ซึ่งมีครบทั้ง 7 วัน ตัวอย่างโปรแกรมทัวร์ไหว้พระธาตุ
Picture
พระธาตุพนม พระธาตุประจำวันอาทิตย์
1. วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม  เป็นพระธาตุประจำวันอาทิตย์ 

          พระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ และมีพระธาตุบริวารอยู่รายรอบรวม 7 องค์ การไหว้พระธาตุถือเป็นหนึ่งในร้อยแปดมงคลชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนการได้ไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ โดยเฉพาะองค์พระธาตุพนม ที่ได้บรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างราว พ.ศ. 1200-1400 ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม ได้มีการบูรณะอยู่หลายครั้ง เคยทรุดลงทั้งองค์ เมื่อ พ.ศ. 2518 และได้รับการบูรณะใหม่ตามแบบเดิม เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม สูง 53.60 เมตร ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลียม กว้างด้านละ 12.33 เมตร บนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำมีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีวอก เชื่อกันว่าผู้ที่ไปนมัสการจะได้รับอานิสงส์มีบุญบารมี และมีคนให้ความเคารพนับถือ

          เครื่องสักการะ : ธูป 6 ดอก, เทียน 2 เล่ม, พวงมาลัย, ดอกไม้, ผ้าสีแดง, น้ำอบไทย, ข้าวเหนียว ปิ้ง, 
                                  ข้าวพอง
          คาถาประจำวันเกิด : อะ วิช สุ นุต สา นุส ติ
Picture
พระธาตุเรณู พระธาตุประจำวันจันทร์
2. วัดพระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร  เป็นพระธาตุประจำวันจันทร์ 

          เป็นพระธาตุคู่เมืองของชาวเรณูนคร องค์พระธาตุมีลักษณะสวยงาม จำลองมาจากพระธาตุพนม (องค์เดิม) แต่มีขนาดเล็กกว่า สูง 35 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 8.37 เมตร ภายในบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน ของมีค่าต่างๆ และเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมือง และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ เชื่อกันว่าผู้ที่ได้นมัสการ จะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้มีวรรณะงดงามผุดผ่องดังแสงจันทร์ พร้อมชมสินค้า OTOP ผ้าพื้นเมือง และอุ (เหล้าหมัก)

          เครื่องสักการะ : ธูป 15 ดอก, เทียนขาว 2 เล่ม, พวงมาลัย, ดอกไม้, ผ้าสีเหลือง, น้ำอบไทย, ข้าวเหนียวปิ้ง,                                     ข้าวพอง
          คาถาประจำวันเกิด : อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา

Picture
พระธาตุศรีคุณ พระธาตุประจำวันอังคาร
3. พระธาตุศรีคุณ อำเภอนาแก  เป็นพระธาตุประจำวันอังคาร 

      อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 64 กิโลกเมตร ถูกค้นพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.2340 และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2486-2490 มีลักษณะคล้ายพระธาตุพนม ต่างกันที่ชั้น 1 มี 2 ตอน เป็นรูปสี่เหลี่ยม ประดับลวดลายปูนปั้น และชั้นที่ 2 สั้นกว่าพระธาตุพนม ภายในบรรจุดพระอรหันตสารีริกธาตุของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระสังกัจจายนะ และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอังคาร เชื่อกันว่าผู้ที่ได้มานมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ ให้มีศักดิ์ศรีทวีคูณ

          เครื่องสักการะ : ธูป 8 ดอก, เทียน 2 เล่ม, พวงมาลัย, ดอกไม้, ผ้าสีชมพู, น้ำอบไทย, ข้าวเหนียวปิ้ง, 
                                  ข้าวพอง
          คาถาประจำวันเกิด : ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง

Picture
พระธาตุมหาชัย พระธาตุประจำวันพุธ
4. พระธาตุมหาชัย อำเภอปลาปาก  เป็นพระธาตุประจำวันพุธ 

          พระธาตุมหาชัย สร้างเมื่อปี พ.ศ.2495 มีลักษณะองค์พระธาตุเป็นรูปแปดเหลี่ยมสูง 40 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตสารีริกธาตุของพระอัญญาโกณฑัญญะ พระสารีบุตร และพระอนุรุทร บริเวณใกล้เคียงยังมีพระพุทธรูป สลักจากไม้ต้นสะเดาหวานใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภาพเขียนฝาผนังอุโบสถแสดงพุทธประวัติ มีลวดลายศิลปะที่งดงาม หาดูได้ยากยิ่งในภาคอีสาน และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันพุธ เชื่อกันว่าผู้ที่มานมัสการ จะได้รับอานิสงส์ประสบแต่ชัยชนะในชีวิต

          เครื่องสักการะ : ธูป 17 ดอก, เทียนขาว 2เล่ม, พวงมาลัย, ดอกไม้, ผ้าสีเขียว, น้ำอบไทย, ข้าวเหนียว ปิ้ง,                                       ข้าวพอง
          คาถาประจำวันเกิด : ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท
Picture
พระธาตุประสิทธิ์ พระธาตุประจำวันพฤหัสบดี
5. วัดพระธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า พระธาตุประจำวันพฤหัสบดี 

          เดิมเป็นเจดีย์โบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2436 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยจำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนม ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม วัดโดยรอบฐานได้ 20.80 เมตร สูง 28.52 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตสารีริกธาตุรวม 7 องค์ พระพุทธรูปเก่าแก่ ดินจากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย 4 แห่ง และพระพุทธบาทจำลองที่อัญเชิญมาจากกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2500 และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี เชื่อว่าผู้ได้นมัสการพระธาตุแห่งนี้ จะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้สัมฤทธิผลในการปฏิบัติงาน

          เครื่องสักการะ : ธูป 19 ดอก, เทียน 2 เล่ม, พวงมาลัย, ดอกไม้, ผ้าสีส้ม, น้ำอบไทย, ข้าวเหนียวปิ้ง,ข้าวพอง

          คาถาประจำวันเกิด : ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ
Picture
พระธาตุท่าอุเทน พระธาตุประจำวันศุกร์
6. วัดพระธาตุอุเทน อำเภอท่าอุเทน เป็นพระธาตุประจำวันศุกร์

          เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยม จำลองมาจากพระธาตุพนม แต่มีขนาดเล็ก มีความสูงจากพื้นดินถึงยอด 33 วา ฐานกว้างด้านละ 6 วา 3 ศอก ภายในบรรจุพระพุทธสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองเมียนมาร์ ประเทศพม่า และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันศุกร์ เชื่อกันว่าผู้ที่มานมัสการพระธาตุแห่งนี้ จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ

          เครื่องสักการะ : ธูป 21 ดอก, เทียน 2 เล่ม, พวงมาลัย, ดอกไม้, ผ้าสีฟ้า, น้ำอบไทย, ข้าวเหนียวปิ้ง,ข้าวพอง

          คาถาประจำวันเกิด : วา โธ โน อะ มะ มะ วา
Picture
พระธาตุนคร พระธาตุประจำวันเสาร์
7. วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง เป็นพระธาตุประจำวันเสาร์ 

          พระธาตุนคร มีลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 5.85 เมตร สูง 24 เมตร ก่อสร้างเสร็จในวันเดือนเพ็ญของปีพ.ศ.2465 มีรูปแบบตามพระธาตุพนมองค์เดิม ภายในบรรจุพระอรหันตสารีริกธาตุ พร้อมกับองค์พระพุทธรูปทองคำ และของมีค่าต่างๆ จากประชาชนผู้มีจิตศรัทธาถวายบรรจุเอาไว้ในองค์พระธาตุ และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันเสาร์ เชื่อกันว่าผู้มานมัสการจะได้รับอานิสงส์เสริมบุญบารมี และมีอำนาจวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน

          เครื่องสักการะ : ธูป 10 ดอก, เทียน 2 เล่ม, พวงมาลัย, ดอกไม้, ผ้าสีม่วง, น้ำอบไทย, ข้าวเหนียวปิ้ง, 
                                  ข้าวพอง
          คาถาประจำวันเกิด : โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ
การเดินทางไปจังหวัดนครพนม

1.โดยรถยนต์
      จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา จนถึงอำเภอบ้านไผ่ แยกขวาเข้าสู่ทางหลวง หมายเลข 23 ไปจนถึงจังหวัดมหาสารคาม แล้วแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 213 ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ จนถึง จังหวัดสกลนคร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 22 ต่อไปจนถึงจังหวัดนครพนม รวมระยะทางประมาณ 740 กิโลเมตร

2. โดยรถประจำทาง
       มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-นครพนม ออกจากสถานีขนส่ง สายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง สอบถาม รายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

0 Comments

ขอเชิญชาวพุทธทุกท่านร่วมทำบุญวันวิสาขบูชา ณ ท้องสนามหลวง

5/12/2014

0 Comments

 
ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องใน 'เทศกาลวิสาขบูชาโลก' 11-17 พ.ค.นี้ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ 'ในหลวง-พระราชินี' พร้อมเตรียมทำบุญพระสงฆ์ 232 รูป 13 พ.ค.นี้…
Picture
กทม.เปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องใน 'เทศกาลวิสาขบูชาโลก' 11-17 พ.ค.นี้ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ 'ในหลวง-พระราชินี' พร้อมเตรียมทำบุญพระสงฆ์ 232 รูป 13 พ.ค.นี้…

เมื่อเวลา 07.09 น. วันที่ 11 พ.ค.57 นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีบวงสรวงบูรพกษัตราธิราช งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2557 ภายใต้แนวคิด "รู้ธรรม รู้ทำ" เพื่อนำประเทศไทยสู่ความเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาโลก และเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ได้นำพุทธธรรมไปใช้สร้างประโยชน์และความสุขแก่ตนเอง ณ บริเวณหน้าพลับพลาพิธี มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 พ.ค.57 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 82 พรรษา รวมทั้งเผยแผ่หลักธรรมของพุทธศาสนา ตลอดจนรักษาประเพณีอันดีงามของพุทธศาสนิกชนโลก โดยสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2557" ในวันนี้ (11พ.ค.57) เวลา 16.00 น.

ส่วนเวลา 06.00 น. วันที่ 13 พ.ค. 57 ซึ่งเป็นวันวิสาบูชา จะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 232 รูป เวลา 17.00 น. มีพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ และพิธีเวียนเทียน ณ พลับพลาพิธี มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และ เวลา 20.20 น. วันที่ 17 พ.ค. 57 พิธีทอดผ้าป่าสี่มุมเมือง ณ พลับพลาพิธี มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และในเวลา 21.15 น. พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับพระบรมมหาราชวัง ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง สู่พระบรมมหาราชวัง

สำหรับ "วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชน ที่จะได้น้อมรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ และถือเป็นวาระอันเป็นมหาอุดมมงคล ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะได้ร่วมเฉลิมฉลอง ประกอบบุญกุศล และปฏิบัติธรรมในเทศกาลวิสาขบูชา.

0 Comments

วันวิสาขบูชา ทั่วไทย 2557

5/12/2014

0 Comments

 
1. พุทธมณฑล : 9-13 พฤษภาคม 2557
       พุทธมณฑล จะจัดงานวันวิสาขบูชาในวันที่ 9-13 พฤษภาคม ซึ่งในวันวิสาขบูชา (13 พ.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพลเสนาณรงค์ องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล

Picture
2. มณฑลพิธีท้องสนามหลวง : 11-17 พฤษภาคม 2557
      สนามหลวง จัดกิจกรรมวันวิสาขบูชา ในวันที่ 11-17 พฤษภาคม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์ภายในพระบรมมหาราชวังให้อัญเชิญมาประดิษฐานยังท้องสนามหลวง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ และในวันที่ 11 พ.ค. เวลา 17.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จฯ เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา

Picture
3. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร : 11-13 พฤษภาคม 2557
       วัดสระเกศฯ จะมีการจัดกิจกรรมโดยการนำประวัติวันวิสาขบูชาที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจัดโชว์ทั้งหมด โดยในวันที่ 11 พฤษภาคม จะมีการจัดเทศน์มหาชาติขึ้น เพื่อบูชาคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จากนั้นจะมีการเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์
 
       ถัดมาในวันที่ 12 พฤษภาคม จะมีการกวนข้าวทิพย์ 20 กระทะ และในวันที่ 13 พฤษภาคม ทางวัดได้จัดพิธีตักบาตรรอบภูเขาทอง พร้อมทั้งจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ทุกรูปด้วย โดยในเวลา 19.00 น. จะมีการจัดพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชา

Picture
4.นครปฐม  ณ พระวิหารหลวงองค์พระปฐมเจดีย์
      พิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 : 13 พฤษภาคม 2557
เชิญพุทธศาสนิกชนร่วมงานพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 เวลา 09.00 น. ณ พระวิหารหลวงองค์พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในวันวิสาขบูชา เสริมสร้างปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแก่เด็ก เยาวชน ประชาชนได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมดีมีคุณธรรมจริยธรรมอย่างยั่งยืน

Picture
5.เชียงใหม่
      งานประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพในวันวิสาขบูชา : 12 พ.ค.2557
ประเพณีนี้จะจัดกันทุกปี ในคืนก่อนวันวิสาขบูชา ซึ่งจะเป็นวันก่อน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นธรรมเนียมของคนที่อยู่เชียงใหม่ โดยลูกหลานชาวเชียงใหม่ จะมาร่วมกันเดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ โดยจะมีขบวนพระภิกษุสงฆ์ และขบวนของคณะต่างๆ ทั้งตัวแทนหมู่บ้าน บริษัทห้างร้าน องค์กรต่าง ฯลฯ เดินนำขึ้นไป เริ่มเดินกันตั้งแต่ตอนเย็น จุดเริ่มต้นคือ หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินผ่านหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ และผ่าน อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ผู้สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นที่สักการะยิ่งของชาวเชียงใหม่ ก่อนผ่านไป เราก็ต้องกราบไหว้ครูบาศรีวิชัยกันก่อน และเดินไปตามถนนไปเรื่อยๆ ตามเนินเขาจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ

      ระหว่างทางก็จะมีการแสดงการละเล่นต่างๆ ที่มีคนนำมาจัด เช่น จุดที่มีการร้องเพลงเหนือ การเล่นกลองสะบัดชัย การเล่นสะล้อ ซอซึง ข้างทางตามจุดต่างๆ ก็จะมีคนนำของขึ้นไปขาย ส่วนมากก็เป็นพวกน้ำดื่ม แก้กระหาย หรือถ้าหิวก็มีของกินขายเหมือนกัน แต่บางจุดเขาก็ไม่ได้ขายน่ะครับ แต่จะเป็นของที่เขานำมาแจกเพื่อร่วมทำบุญกับเรา มีทั้งข้าว และน้ำ เป็นของที่องค์กร สถานศึกษา ร้านค้า ห้างร้าน บริษัท หรือ ชาวบ้านนำมาแจกกัน

Picture
6.นครราชสีมา

     โคราชเปิดงานวันวิสาขบูชา พุทธบารมี 2557 ยิ่งใหญ่ ชมนิทรรศการ ระบบ 3 D : 1 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2557
พระราชวิมลโมลี รักษาการเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญยุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย ดร.วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พลโทชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาคที่ 2 และร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกัน อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 9 พระองค์ จาก 4 ประเทศ ประดิษฐานที่แท่น พร้อมเปิดงาน วันวิสาขบูชา พุทธบารมี ประจำปี 2557 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พค ถึง 1 มิย 2557 ณ ห้องเอ็มซีซีฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา

     สำหรับกิจกรรมภายในงานวันวิสาขบูชา พุทธบารมี ประจำปี 2557 ประกอบด้วย การปิดทองพระพุทธบาท 4 รอย การปิดทองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 9 องค์ 9 วัด ร่วมสร้างพระพุทธรูปด้วยการถวายแผ่นโพธิ์ทอง การตักบาตรหนังสือธรรมะ การนั่งสมาธิเจริญสติ เดินจงกรม ชมนิทรรศการ ระบบ 3D สังสารวัฏ วงจรแห่งทุกข์ ตอน มิติแห่งภูมิ ชีวิตหลังความตาย และร่วมพิธีตักบาตรข้าวมธุปายาส เป็นต้น

Picture
7.ตรัง ณ วัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง และวัดนิโครธาราม
      วัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง และวัดนิโครธาราม : 13 พฤษภาคม 2557
เทศบาลนครตรังกำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 ในวันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 2557 ณ วัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง และวัดนิโครธาราม สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันวิสาขบูชาปีนี้ ในช่วงเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตร ณ วัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง โดยมีนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ เป็นประธานในพิธี

      เปิดโครงการจัดงานสัปดาห์ส่งเสรมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 และโครงการหมู่บ้านถือศีล 5 สำหรับในช่วงค่ำตั้งแต่เวลา 18.30 น. มีพิธีสวดมนต์ไหว้พระและเวียนเทียน ณ วัดนิโครธาราม มีการแสดงพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกแสดงความเคารพสักการะต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

Picture
0 Comments

  วัดสระเกศราชวรมหาวิหารจัดใหญ่ งานวันวิสาขบูชา 11-13 พ.ค. นี้ 

5/12/2014

0 Comments

 
จัดงานยิ่งใหญ่ อลังการ  
งานวันวิสาขบูชา 11-13 พ.ค. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
“พระพรหมสุธี”เผยปีนี้วัดสระเกศจัดงานวันวิสาขบูชาเต็มรูปแบบ นำเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาทั้งหมด เริ่มวันที่ 11-13 พ.ค.
Picture
วันนี้พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวว่า เนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2557 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 13 พ.ค. ทางวัดสระเกศฯ จะมีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 11-13 พ.ค. ซึ่งปีนี้จะเป็นปีแรกที่ทางวัดจะมีการจัดงานเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาเต็มรูปแบบ โดยจะมีการนำเรื่องที่เกี่ยวกับวันวิสาขบูชาที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจัดงานทั้งหมด เริ่มจากวันที่ 11 พ.ค. จะมีการจัดเทศน์มหาชาติเป็นกรณีพิเศษเพื่อบูชาคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จากนั้นจะมีการเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ในคืนวันที่ 11 พ.ค. เพื่อฉลองพิธีการกวนข้าวทิพย์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 พ.ค. โดยจะมีการกวนข้าวทิพย์มากกว่า 20 กระทะ ขณะที่ในวันที่ 13 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา จะมีการจัดพิธีตักบาตรรอบภูเขาทอง พร้อมทั้งจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ทุกรูปด้วย จากนั้นในช่วงเวลา 19.00น. จะมีการจัดพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชา

พระพรหมสุธี กล่าวด้วยว่า การจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชาในปีนี้ที่ทางวัดมีการจัดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เพราะต้องการบูชาคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และจะมีการจัดกิจกรรในลักษณะดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป.

0 Comments

ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 ปีนักษัตร เสริมบุญ บารมี

5/11/2014

0 Comments

 
Picture
เที่ยวตามประเพณี ไหว้พระธาตุปีเกิด 12 ปีนักษัตร (ททท.)

 คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด
      ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับปีเกิดและการนับอายุของแต่ละคนเป็นที่รับรุ้กันแพร่หลาย ในแต่ละปีนักษัตรจึงกำหนดด้วยสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประจำปีเกิด หรือที่เรียกว่า 12 นักษัตร

       สำหรับในดินแดนภาคเหนือของไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรยังสัมพันธ์กับคติการบุชาพระบรมธาตุ ดังปรากฏเป็นประเพณีการชุธาตุหรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด โดยครั้งหนึ่งในชีวิตควรมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเพื่อความเป็นสิริมงคล ในคติล้านนาพระธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิดได้แก่

           พระธาตุประจำปีชวด พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ 

           พระธาตุประจำปีฉลู พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง 

           พระธาตุประจำปีขาล พระธาตุช่อแฮ แพร่ 

           พระธาตุประจำปีเถาะ พระธาตุแช่แห้ง น่าน 

           พระธาตุประจำปีมะโรง พระธาตุวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ 

           พระธาตุประจำปีมะเส็ง เจดีย์พุทธคยา หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่

           พระธาตุประจำปีมะเมีย พระธาตุชเวดากอง พม่า 

           พระธาตุประจำปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่

           พระธาตุประจำปีวอก พระธาตุพนม นครพนม 

           พระธาตุประจำปีระกา พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน

           พระธาตุประจำปีจอ พระธาตุอินทร์แขวน พม่า

           พระธาตุประจำปีกุน พระธาตุดอยตุง เชียงราย 

คำว่า พระธาตุ มีความหมายสองนัยคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่หรือพระเจดีย์ที่มีพระบรมธาตุบรรจุ โดยแต่ละแห่งจะมีตำนานที่เล่ามูลเหตุการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งสัมพันธ์ กับการเสด็จโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าในดินแดนต่าง ๆ สถานที่ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เหล่านี้มักจะกลายเป็นเมืองสำคัญในเวลาต่อมา

ลักษณะของพระธาตุ

    ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่บรรยายไว้ในตำนานมีลักษณะเหมือนถั่วแตก หรือข้าวสารหัก หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาด กลมเกลี้ยงขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีสีทองอุไร สีแก้วผลึก หรือแก้วมุกดา สีดอกพิกุล บางองค์มีรูทะลุได้

ตามปกติจะบรรจุพระบรมธาตุไว้ใต้ฐานเจดีย์ หรือเรือนธาตุ โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถนำออกมาได้ เว้นแต่พระธาตุศรีจอมทอง และนอกจากการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีการบูชาพระธาตุของพระอรหันต์หรือพระสาวกด้วย

 การบูชาพระธาตุ

     สมัยโบราณมักจะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอมและข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาด อาจเจือด้วยน้ำหอม เนื่องจากองค์พระบรมธาตุส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์ พระธาตุบางองค์จะต้องใช้น้ำจากแหล่งพิเศษอย่างเช่นการสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง ใช้น้ำแม่กลางเจือด้วยน้ำหอมหรือแก่นจันทร์

กล่าวได้ว่าคติการบูชาพระธาตุปีเกิดและตำนานที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงการแพร่กระจายของพุทธศาสนา ในดินแดนไทยมาแต่โบราณ นอกจากนี้การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ยังสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนเมืองต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยที่มีกลุ่มชนมากมายอาศัยอยู่ โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจ

การเดินทางท่องเที่ยวไหว้พระธาตุปีเกิดมีความสะดวกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระธาตุส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ จึงสามารถจัดเส้นทางสำหรับไหว้พระธาตุในจังหวัดใกล้เคียงได้เช่น เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง หรือเชียงราย-น่าน-แพร่ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้อิ่มใจในบุญกุศล ทว่ายังได้ชมศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย

0 Comments

ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดนนทบุรี

5/11/2014

0 Comments

 
วัดที่ 1 " วัดใหญ่สว่างอารมณ์ "

        วัดใหญ่สว่างอารมณ์ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายราว พ.ศ. 1963 แต่เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อว่า วัดน้อย เพราะเรียกตามที่ตั้งที่อยู่ติดคลองบางน้อย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหญ่ยิ่ง จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เปลี่ยนมาเป็นชื่อ วัดใหญ่บางน้อย เพราะมีเจ้าอาวาสชื่อหลวงพ่อน้อย ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2463 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้เสด็จมาพักผ่อนอริยบทพร้อมประทับ ณ ตำหนักชั่วคราวที่ข้าหลวงประจำจังหวัดสร้างถวายเป็นเวลาหลายวัน และทรงพอพระทัยในพระตำหนักที่พัก ทรงมีพระอารมณ์ผ่องใสพร้อมทั้งสุขภาพและพลานามัยดีขึ้น จึงได้ขนานนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดใหญ่สว่างอารมณ์” แต่เมื่อเวลาผ่านไปพระตำหนักของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรุดโทรมมากทางวัดจึงรื้อลง
       
       เมื่อมาถึงวัดเราก็พลาดไม่ได้ที่จะต้องกราบไหว้พระขอพรให้สราญใจกันก่อน ภายใน “พระอุโบสถ” ทรงไทยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 4 ศอก ทำจากศิลาแลง ปางสมาธิ สมัยสุโขทัย เป็นพระประธานของอุโบสถ ส่วนวิหารที่อยู่ข้างกันนั้น เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อแสนล้าน” ที่ประชาชนนิยมมากราบไหว้ขอพร และเสี่ยงเซียมซีขอโชคลาภ
Picture
Picture
วัดที่ 2 " วัดบางจาก "

           วัดบางจาก เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัด นนทบุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คนที่ไปเที่ยวเกาะเกร็ด มองมาด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะเห็นพระองค์ใหญ่ตั้งอยู่เป็นสง่า ก่อนหน้านั้น ทางวัดได้ต่อเติมสร้างอุโบสถเป็น 2 ชั้น เนื่องจากอุโบสถหลังเก่ามีแค่ชั้นเดียว เวลาถึงฤดูน้ำเมื่อไรน้ำจะไหลท่วมอุโบสถทุกครั้ง ทางวัดเลยให้มีการขุดเจาะฐานอุโบสถ เพื่อต่อเติมเป็น 2 ชั้น ขณะที่เครื่องขุดเจาะไปกระทบวัตถุแข็งเข้าอย่างหนึ่ง คนงานเลยช่วยกันขุดดินกับทรายออก จึงพบว่าใต้ฐานอุโบสถเป็นอุโมงค์ โดยเครื่องเจาะไปโดนองค์พระโมคคัลลานะ ทำให้บริเวณใบหน้ากับแขนขวาชำรุด หลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทำให้ชาวบ้านพากันมาปิดทององค์พระ และลูกนิมิต พร้อมกับนำน้ำที่ไหลออกข้างอุโมงค์กลับไปกินกันจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

            พระองค์หนึ่งใต้ฐานอุโบสถมีป้ายชื่อว่าพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย (พระหนุนดวง) ส่วนอีกองค์หนึ่งระบุชื่อพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา (พระค้ำดวง) โดยพระทั้ง 2 องค์ตั้งวางไว้ลักษณะคล้ายกำลังค้ำฐานของอุโบสถไว้ นอกจากนี้ยังมีลูกนิมิตกลมแต่แบนอีก 1 ลูก ตั้งวางอยู่บนโขดหิน ส่วนตลอดทางเดินรอบอุโมงค์ซึ่งเป็นดินเหนียว ปรากฏว่ามีน้ำไหลออกมาตลอดทาง ชาวบ้านจึงนำภาชนะมารองและเก็บไปอาบกินที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ทำให้พื้นดินเจิ่งนองไปด้วยน้ำ และบางส่วนก็เป็นบ่อขนาดเล็ก ทางวัดต้องนำเครื่องวิดน้ำมาสูบออก แต่ยังมีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มตลอดเวลา ทำให้สูบเท่าไรน้ำก็ไม่ลดลงเสียที ทางวัดเลยนำเชือกมากั้นไว้ที่ขอบบ่อ พร้อมกับเขียนป้ายไว้ว่า “บ่อน้ำพันปี”
Picture
วัดที่ 3 " วัดเสาธงทอง " 

           เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ วัดสวนหมาก ศิลปสมัยอยุธยา ที่มีเจดีย์ ย่อมุมสิบสองขนาดใหญ่อยู่หลังโบสถ์ เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในเขตอำเภอปากเกร็ด ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีเจดีย์องค์เล็กเป็นเจดีย์ บริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมอีกองค์หนึ่งมีรูปแปลกมีฐานเหลี่ยม องค์ระฆังทำเป็นทรงกลมสูง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมาก เป็นลายทองเขียนลาย กรวยเชิงอย่างงามพระประธานเป็นพระปางมารวิชัย ปูนปั้น ขนาดใหญ่องค์หนึ่งในจังหวัดนนทบุรี คนมอญเรียก วัดนี้ว่า "เพ๊ยะอาล๊าต"  ในสมัยอยุธยาเรียกว่า "วัดสวนหมาก"
Picture
วัดที่ 4 " วัดไผ่ล้อม " 

           วัดไผ่ล้อมเกาะเกร็ด สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงคล้ายมะเฟือง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้”

           เป็นวัดที่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ อุโบสถ เป็นโบสถ์สมัยอยุธยาที่งามมากแห่งหนึ่ง แต่มีการซ่อมครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 ลายจำหลักไม้ที่หน้าบันเป็นลายดอกไม้งามมาก เช่นเดียวกับสาหร่ายและรวงผึ้งแกะสลักไม้ได้งดงามมีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า "เพี๊ยะโต้" ข้างวัดไผ่ล้อมมีวัดเก่าแก่ที่รักษาไว้ คงสภาพเดิม ทำจากไม้
Picture
วัดที่ 5 " วัดปรมัยยิกาวาส "

            วัดปรมัยยิกาวาส เดิมชื่อ "วัดปากอ่าว " มีชื่อในภาษามอญว่า " เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง " หมายความว่า วัดหัวแหลม เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฎพระเจดีย์มุเตาซึ่งเป็นเจดีย์ทรงมอญ ปัจจุบันอยู่ติดริมแม่น้ำกระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง อันเป้นสัญลักษณ์ของวัดมาแต่โบราณ ต่อมาสมัยธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่เกาะมากขึ้น วัดแห่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางของชุมชนและสถานที่จัดงานประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญบนเกาะเกร็ด และที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่

            เจดีย์มุเตา (เจดีย์เอียง) พระเจดีย์ทรงมอญแบบเจดีย์มุเตาในเมืองหงสาวดี เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานแปดเหลี่ยมย่อมุม กว้างด้านละ 5 วา สูง 4 วา 1 ศอก ยอดพระเจดีย์มีฉัตรทรงเครื่อง 5 ชั้น อย่างมอญ ตั้งอยู่หัวมุมเกาะเกร็ด สร้างในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเกาะเกร็ด
Picture
วัดที่ 6 " วัดฉิมพลีสุทธาวาส " 

        วัดฉิมพลีตั้งอยู่บนเกาะเกร็ดทางด้านทิศใต้ เป็นวัดโบราณ ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเรียกกันว่า "วัดป่าฝ้าย" มีชื่อเต็มว่า "วัดฉิมพลีสุทธาวาส" มีพระอุโบสถเก่าขนาดเล็กลักษณะงดงามมาก และยังคงสภาพสมบูรณ์ตามแบบเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อม รอบด้วยลายดอกไม้ ยอดมณฑป ซุ้มปประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นแบบหน้านางซึ่งยังคงความงามอยู่ ฐานพระอุโบสถโค้งแบบเรือสำเภา ด้านเหนือพระอุโบสถมี เจดีย์ทรงระฆังซึ่งแปลกกว่าที่อื่น คือ มีกระจกสีประดับอยู่ที่องค์เจดีย์ นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตาจีนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างประตูกำแพงพระอุโบสถ 2 ตัวอีกด้วย

       อาณาบริเวณของวัดฉิมพลีในปัจจุบันนั้นใหญ่กว่าในอดีตเนื่องจากรวมเอาอาณาบริเวณของวัดป่าเลไลย์ ซึ่งในขณะนี้เป็นวัดร้างเข้าด้วยกันแล้ว วัดป่าเลไลย์นี้มีพระอุโบสถที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง และมีใบเสมาทำจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปากเกร็ด บานประตูเขียนลายทองรดน้ำภาพเสี้ยวกาง ที่งดงาม แต่ได้ลบเลือนไปมากแล้วรวมทั้งยังมีความสูง 1.69 เมตร ส่วนพระประธานและพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยแบบอยุธยา ได้นำไปประดิษฐานที่พระอุโบสถ
Picture
วัดที่ 7 " วัดกลางเกร็ด " 

           วัดกลางเกร็ด อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำลัดเกร็ด มีพระประธานปางมารวิชัย หน้าตัก ๓ ศอกคืบ และพระพุทธไสยาสน์ ยาว ๙๙ วา สร้างมานานกว่า ๑๐๐ ปี วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงครามสีมา สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรด ฯ ให้ขุดคลองลัดนี้ในสมัยอยุธยา ปัจจุบันคลองลัดนี้ได้ขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำ วัดจึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถหลังเก่าที่กำลังบูรณะแสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดได้เป็นอย่างดี ส่วนหอไตรกลางน้ำสภาพสมบูรณ์ยังคงงดงามแบบเรียบง่ายด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น พระพุทธรูปสำคัญของวัดซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน คือ พระพุทธไสยาสน์ หรือ หลวงพ่อพระนอน ชาวบ้านมักจะมาบนบานขอพรให้การงานสำเร็จดังประสงค์ 
           ท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเล่าให้ฟังว่า เดิมที่วัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง เป็นพระพุทธรูปเก่าไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด ต่อมาชำรุดทรุดโทรมมากจึงได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ทั้งองค์ โดยดูแบบจากพระพุทธไสยาสน์ที่มีชื่อเสียงของวัดอื่น พระพุทธไสยาสน์องค์ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหาร ประทับนอนสีหไสยาสน์ พระพาทาและพระกรพับขึ้นตั้งรับพระเศียรอยู่หน้าพระเขนย พระหัตถ์ขวารองรับพระเศียรอยู่บนพระเขนย กลวงฝ่าพระบาทมีรูปจักร ซึ่งหมายถึงจักรที่หมุนไปโดยรอบทั่วพื้นพิภพ อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิราชตามตำรามหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ คือฝ่าพระบาทเป็นจักรลักษณะ ซึ่งช่างตีความเป็นรูปจักรกลางฝ่าพระบาท ในทางศาสนาพระพุทธเจ้าก็ทรงเทียบเท่ากับจักรพรรดิราช
Picture
Picture
วัดที่ 8 " วัดเชิงเลน "

        เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางสร้างขึ้นพร้อมกับการเกิดชุมชนบ้านปากเกร็ดน้อย และด่านขนอนบ้านปากเกร็ดน้อย เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัดมี สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มชายน้ำ และอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ลำน้ำโค้งหักศอกตามแนวโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยกระแสน้ำไหลไม่รุนแรง จึงมีโคลนตมที่ตามน้ำมา ทับถมอยู่ตลอดเวลาจนเป็นชายเลนจนถึงปัจจุบันนี้ และมักเรียกชุมชนที่อยู่ในที่มีลักษณะธรรมชาติเช่นนี้ว่า บ้านเชิงเลนวัดได้สร้างขึ้นบริเวณดังกล่าวนี้ จึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดเชิงเลน” 
         แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในการสร้างที่ชัดเจน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นพร้อมกับวัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่า ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ต่อมากรมชลประทานได้ย้ายหน่วยงานบางส่วนจากแขวงสามเสน เขตดุสิตกรุงเทพฯ ขึ้นมาตั้งพื้นที่ อยู่ที่อำเภอปากเกร็ด และอำเภอเมืองจึงเวนคืนที่ดินตั้งแต่ที่ติดกับถนนติวานนท์ฝั่งตะวันตกจรดถึงแม่น้ำเจ้าพระยาวัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่าอยู่ในเขตพื้นที่เวนคืนที่ดินของกรมชลประทาน ประกอบด้วยไม่มีพระภิกษุ สามเณรจำพรรษาอยู่เลย กรมการศาสนาจึงประกาศยกเลิกวัดท้ายอ่าว และ วัดเชิงท่า ปัจจุบันได้เป็นวัดร้างทั้ง ๒ วัด ส่วนวัดเชิงเลน ยังมีพระภิกษุจำพรรษาเรื่อยมา จนถึงสมัย พระภิกษุแม้นได้ดำรงตำแหน่ง เป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน
พระอธิการแม้นได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดเชิงเลนและปฏิบัติกิจพระศาสนาพอสมควร
Picture
Picture
วัดที่ 9 " วัดท่าอิฐ "

      วัดท่าอิฐ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๖ ชาวบ้านมีอาชีพ ปั้นอิฐ และเป็นท่าขึ้นลงเรือ ปี พ.ศ.๒๓๕๑ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้พระยาพลเทพ(บุญนาค) นำชาวมุสลิมมาอาศัยอยู่เป็นชุมชนใหญ่จนทุกวันนี้
Picture
Picture
วัดที่ 10 " วัดแสงสิริธรรม "

   วัดนี้มีเรื่องเล่าแปลกๆ มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงพ่อดำที่เชื่อกันว่าเป็นอภินิหารของหลวงพ่อดำ เกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง คือ มีโจรมาขโมยหลวงพ่อดำ ซึ่งขนาดองค์ของท่านอุ้มสองคน เอาไปได้สบาย ๆ แต่เมื่อโจรกรรมไปแล้ว ผู้โจรกรรมก็ให้มีอันเป็นไป ต้องนำหลวงพ่อดำกลับคืนมาทุกครั้ง แถมยังเอากลับมาไว้ที่เดิม คือ หน้าองค์พระประธาน
Picture
Picture
Picture
0 Comments

ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดอ่างทอง

5/11/2014

0 Comments

 
พาเที่ยว ไหว้พระ 9 วัด ที่อ่างทอง อ่างทอง แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ เป็นเมืองผ่านในสายตาของใครและใครหลายคน แต่ที่นี่มีวัดงามๆที่น่าได้เยือนยลอยู่หลายวัดอีกทั้งยังมีพระองค์ใหญ่ให้กราบไหว้ไม่แพ้ที่ใด
Picture
ไหว้พระ 9 วัด ที่อ่างทอง
Picture
1.วัดป่าโมกวรวิหาร ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นยุคสมัยสุโขทัย วัดนี้เป็นที่เลื่องลือแพร่หลายเกี่ยวกับองค์พระพุทธไสยาสน์ ที่มีความสำคัญและเป็นที่เคารพของชาวอ่างทอง

พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีพระพักตร์รูปไข่ ความยาวจากพระเมาลีถึงพระบาท 22.58 เมตร มีประวัติการชะลอ ในปี พ.ศ.2268 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองงานจัดการชะลอพระพุทธไสยาสน์องค์นี้จากริมแม่น้ำน้อยไปไว้บริเวณวัดตลาด หลังจากนั้นทรงสร้างวิหารหลังใหม่ครอบไว้ ผนวกเอาวัดชีปะขาวเข้ากับวัดป่าโมกเป็นต้นมา ด้วยเพราะพื้นที่แห่งนี้ได้มีต้นโมกขึ้นอยู่จำนวนมาก

Picture
พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก
2.วัดท่าสุทธาวาส ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก เวลาศึกสงครามบริเวณนี้จะเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ จุดเด่นอันนอกเหนือจากการไหว้พระแล้ววัดนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยภายในพระอุโบสถ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรส่วนพระองค์และนักเรียนในโครงการศิลปาชีพเขียนขึ้น มีหลากหลายเรื่องราว เช่น เรื่องพระมหาชนก ประวัติเมืองอ่างทอง แม้แต่ชาวบ้านในตำบลบางเสด็จก็ถูกนำมาแต้มแต่งที่นี่ อีกทั้งมีภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาที่ทรงจรดปลายพู่กันวาดผลมะม่วงไว้ด้วย
Picture
ภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถวัดท่าสุทธาวาส
3.วัดสี่ร้อย ต.สี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อายุราว 150 – 200 ปี มีตำนานรักชาติอันตราตรึง มีพระใหญ่อย่าง “พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์” ขนาดใหญ่สูงขนาด 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ องค์พระทำด้วยปูนเรียกกันตาม ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโตวัดสี่ร้อย” หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อร้องไห้”เมื่อปี พ.ศ.2530 มีข่าวใหญ่ว่าหลวงพ่อวัดสี่ร้อยมีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากคน ทั่วไปทั้งชาวอ่างทอง และจังหวัดใกล้เคียงต่างหาโอกาสมานมัสการ นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถวัดนี้เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยา ที่มีความงดงามมาก ปัจจุบันภาพลบเลือนไปหมดแล้ว

Picture
หลวงพ่อร้องไห้แห่งวัดสี่ร้อย
4.วัดเขียน ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝาผนัง ที่งดงามแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญสมัยอยุธยาตอนปลาย ลายเส้นอ่อนช้อยหลากหลายเรื่องราว ผนังทิศใต้เป็นเรื่องมโนห์รา ตลอดจนเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ป่าหิมพานต์ ก็เล่าเรื่องไว้อย่างละเอียดปราณีต
Picture
ภายในพระอุโบสถวัดเขียน
5.วัดขุนอินทประมูล ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทองก็คงเหมือนมาไม่ถึงอ่างทอง ที่วัดนี้มีพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์องค์ขาวใหญ่ วัดจากยอดพระเกตุเมาลีจนถึงปลายพระบาทยาว 50 เมตร พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก 
Picture
พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล
พระนอน วัดขุนอินฯ มีพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยพระยาเลอไทสร้างขึ้นเป็นพระพุทธบูชา และได้ขนานพระนามว่าขณะนั้นว่า พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เหลือแต่องค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้งมานานนบร้อยปี องค์พระนอนมีพุทะลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก

6.วัดม่วง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ ต้องการนำเงินที่ได้จากแรงศรัทธาก่อให้เกิดเป็นรูปธรรม จึงจัดสร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยก่อนที่หลวงพ่อมรณภาพลง ได้ตั้งนามองค์พระว่า “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
Picture
พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญแห่งวัดม่วง
พระนามนี้หลวงพ่อเกษมตั้งใจสร้างองค์พระนี้ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 องค์พระ ได้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 มีขนาดหน้าตักองค์ 63.05 เมตร มีความสูงจากฐานองค์พระ ถึงยอดเกศา 95 เมตร

7.วัดต้นสน อ.เมือง จ.อ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร พระนามว่า สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง หรือเรียกชื่อย่อว่า “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” ที่หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ลงรักปิดทอง นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกและมีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง

Picture
สมเด็จพระศรีเมืองทอง พระพุทธรูปปางสะดุ้งมารแห่งวัดต้นสน
8.วัดราชปักษี หรือ วัดนก อ.เมือง จ.อ่างทอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา เป็นวัดอยู่ริมแม่น้ำน้อย วัดนี้ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สักการะบูชา และเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านในท้องถิ่นพระนอนองค์นี้มีขนาดเดียวกับพระนอนที่วัดป่าโมกฯ
Picture
พระนอนแห่งวัดราชปักษี
9.วัดไชโยวรวิหาร หรือ วัดเกษไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ได้ขึ้นมาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโตไว้กลางแจ้ง เป็นปูนขาวไม่ปิดทอง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นเมื่อ พ.ศ.2430 แต่แรงสั่นสะเทือนระหว่างการลงรากฐานพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์”

Picture
รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต
นอกจากนี้ในวิหารที่หันหน้าออกสู่แม่น้ำยังเป็นที่ประดิษฐาน “รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์” (โต พรหมรังสี) สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2437 องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่าวิหารแห่งอื่นๆ
0 Comments

ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดกรุงเทพ

5/11/2014

0 Comments

 
Picture
ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง (ททท.)
          "การเริ่มต้นที่ดี คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ" จากคติดังกล่าว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดทำกิจกรรม "ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง" ขึ้น เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจได้เดินทางท่องเที่ยวสักการะสถานที่อันเป็นมงคล เพื่อการเริ่มต้นอย่างมีความสุขสงบทางใจ ตามคติความเชื่อของไทย อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานที่สำคัญของเกาะ รัตนโกสินทร์และบริเวณโดยรอบอีกด้วย
Picture
1. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

          คติ : เดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรีที่ดี
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่ ดอกไม้พวงมาลัย

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศที่ดิน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเดิมเรียกว่า "หมู่บ้านกุฎีจีน" วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2368 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร" พร้อมกับทรงสร้างพระวิหารหลวงเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธไตรรัตนนายก" (หลวงพ่อโต) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 หรือเรียกตามแบบจีนว่า ชำปอฮุดกง หรือ ชำปอกง

          วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ โดยประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ นอกจากนี้ ยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2408

          การเดินทาง 
          
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี มีโดยรถประจำทาง สาย 40, 57, 149 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 177 หรือจะไปทางเรือก็ต้องข้ามเรือข้ามฟากที่ท่าเรือปากคลองตลาดมาท่าเรือวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
Picture
2. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

          คติ : มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
          เครื่องสักการะสำหรับพระประธานในโบสถ์ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก 
          เครื่องสักการะสำหรับรูปเคารพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท : ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างสมัยก่อนกรุงรัตรโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายราชสามัญ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุ รสิงหนาท ต่อมาเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้ง จึงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดชนะสงคราม"

          วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร มีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย เป็นพระประธาน มีพระนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ" ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ 

          การเดินทาง

          วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร สามารถเดินทางโดยรถประจำทาง สาย 33, 64, 65 หรือรถปรับอากาศ สาย ปอ. 3, 32, 33, 64, 65
Picture
3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

          คติ : ร่มเย็นเป็นสุข
          เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในนาม "วัดโพธิ์" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อ "วัดโพธาราม" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงบูรณะและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างประเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ. 2377 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระเจดีย์ แล้วพระราชทานนามว่า "พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ" และทรงสร้าง "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกนิธาน" เพื่ออุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 และทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น "มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน" จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาหาความรู้

          ที่วัดโพธิ์มี "พระพุทธเทวปฏิมากร" ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ใต้ฐานชุกชี บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 มีพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่สวยงามที่สุด และองค์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนพื้นพระบาทประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ นอกจากนั้น วัดโพธิ์ยังมีเจดีย์ทั้งสิ้น 99 องค์ ถือว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และมีพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 1- 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          ในปัจจุบันวัดโพธิ์เปิดอบรมเผยแพร่วิชาการแพทย์แผนโบราณ โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากกระทรวงสาธารณสุข

          การเดินทาง

          วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย 12, 44, 82, 91 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 12, 32, 44, 91, 51
Picture
4. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          คติ : เพื่อจิตใจสะอาด ดุจรัตนตรัย
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกไม้

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นพระอารามที่อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2326 เพื่อความสะดวกเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณี และเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิอายุของพระเจ้าแผ่นดินเจ้านายในราชสกุล ภายในวัดพระแก้วมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" (พระแก้วมรกต) ที่พระระเบียงมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วิจิตรสวยงามและยาวที่สุดในโลก มีปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งเป็นปราสาทยอดปรางค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1- 8 

          มีพระศรีรัตนเจดีย์ประดับกระเบื้องสีทองทั้งองค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุมีหอพระราชพงศานุสรณ์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลของ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหอระฆังที่มีระฆังซึ่งตีมีเสียงดังกังวานดี มีพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์และยัง มีรูปยักษ์ 6 คู่ เป็นรูปยักษ์ตัวสำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นปูนปั้นทาสี ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ สูงประมาณ 6 เมตร ตั้งประจำที่ช่องประตูพระระเบียง

          การเดินทาง

          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร สามารถโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 25, 32, 33, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 2, 3, 6, 25, 32, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203, 512
Picture
5. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
     
          คติ : ชื่อเสียงโด่งดัง คนนิยมชมชอบ
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม วัดระฆัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อว่า “วัดบางว้าใหญ่” เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 มีลายหน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถนี้ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" นอกจากนี้ ยังมีหอไตรเป็นรูปเรือนสามหลังแฝด ภายในมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญหลายแห่งทั้งบานประตู และฝาผนังรวมทั้งตู้พระไตรปิฏกสมัยกรุงศรีอยุธยา

          วัดระฆังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณ วิทยาคุณโด่งดังมากแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน การไปสักการะสมเด็จพุฒาจารย์ เพื่อขอพรโดยการสวดคาถาชินบัญชรเมื่อสวดจบแล้ว ปักธูปที่กระถางและปิดทองที่รูปปั้น แล้วอย่าลืมพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
 
          การเดินทาง

          วัดระฆังโฆสิตารามมรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย สามารถโดยรถประจำทาง สาย 19, 57 ส่วนทางเรือ โดยเรือด่วนเจ้าพระยาแล้วลงที่ท่ารถไฟ หรือท่าวังหลัง หรือข้ามฝากที่ท่าช้างแล้วขึ้นที่ท่าเรือวัดระฆัง 
Picture
 6. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

          คติ : วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่คนทั่วไป
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ "วัดมหาสุทธาวาส" วันนี้เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2350 เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2390 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศนเทพวราราม"

          ที่พระวิหารมี "พระศรีศากยมุนี" เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วย สำริดถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา บานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงามรอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์ มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระประธานปางมารวิชัย ใหญ่กว่าพระที่หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์อื่น ๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมาก พระอุโบสถนี้นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธเสรฏฐมุนี เป็นพระประธานที่หล่อด้วยกลักฝิ่นเมื่อ พ.ศ. 2382 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน

          การเดินทาง

          วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย 10, 12, 42 รถปรับอากาส สาย ปอ. 10, 12, 42
Picture
7. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

          คติ : ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน
          เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียนคู่
 
          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก เมื่อ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) เสด็จทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยามารุ่งเช้าที่หน้าวัดมะกอก จึงโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดแจ้ง" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม"

          ในสมัยกรุงธนบุรีวัดอรุณราชวรารามเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ว นอกจากนั้นยังมียักษ์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 ตน ตั้งอยู่หน้าประตูซุ้มยอดพระมงกุฏ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "ยักษ์วัดแจ้ง"

          ภายในวัดอรุณราชวรารามนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ มีพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสูง 33 วาเศษ ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีปรางค์ทิศทั้ง 4 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ เทศน์พระธัมมจักร ตรัสรู้ นิพพาน การเดินเวียนทักษิณาวัดรอบพระปรางค์ 3 รอบ โดยเดินเวียนขวา (ตามเข็มนาฬิกา) เพื่อความเป็นสิริมงคล มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และยังมีพระวิหารที่มีพระบรมสารีริกธาติที่เกศพระพุทธชมภูนุชฯ มีพระอรุณหรือพระแจ้ง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์

          การเดินทาง

          วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ สามารถโดยรถประจำทาง สาย 19, 57 หรือนั่งเรือโดยสารข้ามฟากจากท่าเตียน มาขึ้นที่วัดอรุณ 
Picture
 8. วัดบวรนิเวศวิหาร
          
          คติ : พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต
            เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 3 ดอก


          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชชวรวิหาร สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2367 - 2375 เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดใหม่ ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาประทับเมื่อปี พ .ศ. 2375 นอกจากนี้ ยังเป็นวัดที่รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลปัจจุบันทรงผนวช เป็นวัดของคณะ สงฆ์ฝ่ายคามวาสีของธรรมยุติกนิกาย

          สิ่งสำคัญภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางมีตรามหามงกุฎ พระประธานในพระอุโบสถและพระพุทธชินสีห์ วิหารพระศาสดา พระเจดีย์ใหญ่ และพระตำหนักปั้นหยา สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวช


          การเดินทาง

          วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงนิเวศ เขตพระนคร สามารถโดยรถประจำทาง สาย 10, 12, 56, 68 
Picture
9. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

          คติ : เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล
          เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 3 ดอก

          ประวัติ/ความเป็นมา

          วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดสำคัญคู่มากับการสร้างกรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก รัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โปรดให้ขุดคลองรอบพระอารามและพระราชทานนามว่า วัดสระเกศ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารามและสร้างสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง

          สิ่งสำคัญภายในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้แก่ พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ซึ่งสร้างเป็นพระปรางค์ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เกิดทรุดพังลง รัชกาลที่ 4 โปรดให้ซ่อมแซม โดยแปลงเป็นภูเขาและก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถที่ภายในมีภาพเขียนจิตรกรรมฝีมือช่าง สมัยรัชกาลที่ 3 และหอไตร ศิลปะสมัยอยุธยา บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ

          การเดินทาง

          วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมหานาค แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
Picture
0 Comments

10 วัดเด่น วัดดัง น่าไปเที่ยวสุดๆ ช่วงปีใหม่ 2557

5/11/2014

0 Comments

 
1.วัดม่วง จ.อ่างทอง ภายในวัดมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกลีบบัวสีชมพู ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วิหารแก้ว ชั้นล่าง เป็นพิพิธภัณฑ์วัตถุมงคลและวัตถุโบราณ ชั้นบน ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เนื้อเงินแท้ องค์แรกองค์เดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
Picture
2.วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐาน ณ ไหล่เขาสุวรรณพรรพต หรือ เรียกว่า เขาสัจจพันธคีรี ค้นพบในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยนายพรานบุญ ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงสถาปนายกที่พระพุทธบาทขึ้นเป็น "พระมหาเจดีย์สถาน" โปรดให้สร้าง มณฑปยอดเดียว สวมครอบรอยพระพุทธบาท และ สร้างปูชนียวัตถุต่างๆ ในทุกๆ ปีจะมีงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท โดยจัดปีละ 2 ครั้งคือ ตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 และตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4
Picture
3.พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผาย โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศกำแพงแก้ว 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปี(ภาพพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย, ส้มโอ, สวนสามพราน, โรสการ์เด้น, ตลาดน้ำวัดลำพญา, ดอนหวาย, กล้วยไม้,ตลาดบางหลวง)
Picture
4.วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญคือ "หลวงพ่อโสธร" อันเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวแปดริ้วและพุทธศาสนิกชนทั่วไป เป็นวัดที่ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนไปไหว้ขอพรเป็นจำนวนมาก หากสำเร็จมักจะนำไข่ต้มมาถวายแก้บนตามความเชื่อ
Picture
5.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว วัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ปัจจุบันในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมชมความงดงามของงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของช่างสิบหมู่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จำนวนมาก
Picture
6.วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี เป็นวัดที่มีความสวยงามด้วยศิลปกรรมและการตกแต่ง มีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่นวิหารรูปหล่อหลวงพ่อแพองค์ใหญ่ ,วิหารพระพุฒจารย์โต,พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ,พระพุทธรูปประทานพรขนาดใหญ่ พระพุทธสุวรรณมงคลหามุนี,พระสีวลี,พระสังกัจจายนะ,วิหารคด,พระประธานใน อุโบสถ,พระพิฆเนศ ภายในวัดร่มรื่น มีจุดนั่งพักผ่อนทั่วบริเวณ ด้านหน้าวัดมีตลาดของกินและของฝากหลายอย่าง
Picture
7.วัดโกรกกราก จ.สมุทรสาคร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2375 อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อว่า "หลวงพ่อปู่" ที่มีประวัติการประดิษฐานอันน่าอัศจรรย์ใจ "หลวงพ่อปู่" จึงได้รับความเคารพศรัทธาจากคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
Picture
8. วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ได้รับการปรับปรุงจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่ง ที่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนกันมาประจำ ภายในวัดคุณจะได้พบกับภาพฝีพระหัตถ์กรมหลวงชุมพรเขตตุอุดมศักดิ์ ที่ท่านวาดให้หลวงปู่ศุขเมื่อตอนสร้างโบสถ์ และ ศาลากุฏิเก่าหลวงปู่ศุข ท่านสามารถนมัสการ รูปหล่อหลวงปู่ศุข และกรมหลวงชุมพรเขตตุอุดมศักดิ์ ภาพถ่ายที่มีมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่ศุขท่านยังมีชีวิตอยู่ หุ่นขี้ผึ้ง หลวงปู่ศุข และมณฑปเก่าที่หลวงปู่ศุขยังสร้างไม่ทันเสร็จ ก็ มรณะภาพเสียก่อน ทางจังหวัดได้บูรณะจนสวยงาม และ วัตถุโบราณ ที่เกี่ยวพันกับหลวงปู่ศุข
Picture
9.วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถของวัดนั้นสร้างเลียนแบบโบสถ์ในคริสต์ศาสนา โดยภายในประดิษฐาน "พระพุทธนฤมลธรรโมภาส" เป็นพระประธาน ออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ โดยลักษณะที่ผสมผสานศิลปะแบบประเพณีนิยม และศิลปะแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งมีพุทธลักษณะคล้ายสามัญชน นอกจากนี้บริเวณฐานชุกชีก็มีลักษณะเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนแบบโบสถ์ และฝาผนังโบสถ์ด้านหน้าของพระประธานนั้น เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ที่ประดับด้วยกระจกสี ที่สั่งนำเข้ามาจากประเทศอิตาลีเลยทีเดียว
Picture
10.วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี คือ LANDMARK การถ่ายภาพยนตร์ และละครพื้นบ้านไทยในฉากปราสาทราชวัง ลองมาค้นหาว่าในละครที่ได้ชมมีฉากใดบ้างที่ถ่ายทำ ณ วัดแห่งนี้
Picture
0 Comments

    Archives

    June 2014
    May 2014

    Categories

    All
    วัดที่น่าสนใจ
    ข่าวประชาสัมพันธ์
    ไหว้พระ9วัด


Powered by Create your own unique website with customizable templates.